สงครามโลกครั้งที่สอง ของ คาโรลที่ 2 แห่งโรมาเนีย

กษัตริย์คาโรลที่ 2 พร้อมมกุฎราชกุมารมีไฮ พระราชโอรสเสด็จออกตรวจพลในวันชาติ วันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1939

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้นจากการที่เยอรมนีเข้ารุกรานโปแลนด์ในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 ตามมาด้วยอังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามต่อจักรวรรดิไรซ์ในวันที่ 3 กันยายน ปีเดียวกัน กษัตริย์คาโรลทรงประกาศเป็นกลาง การที่พระองค์ทรงทำเช่นนี้ถือเป็นการละเมิดสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรกับโปแลนด์ที่ลงนามไว้ในปี 1921 รวมถึงสนธิสัญญากับฝรั่งเศสที่ลงนามเมื่อ ค.ศ. 1926 กษัตริย์คาโรลทรงดำเนินนโยบายภายใต้เหตุผลที่ว่าเยอรมนีเป้นพันธมิตรกับสหภาพโซเวียตภายใต้กติกาสัญญาโมโลตอฟ–ริบเบินทร็อพ และฝรั่งเศสตรึงกำลังตามแนวแมกิโนต์ โดยไม่เต็มใจที่จะรุกคืบเข้าเยอรมนี การประกาศเป็นกลางจึงเป็นสิ่งที่รักษาความเป็นเอกราชของราชอาณาจักรของพระองค์[101] กษัตริย์คาโรลทรงพยายามเล่นการเมืองแบบรักษาสมดุลอย่างรอบคอบระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรและฝ่ายอักษะ ด้านหนึ่งทรงลงนามสันธิสัญญาเศรษฐกิจใหม่กับเยอรมนี ในขณะที่อีกด้านหนึ่งทรงพิจารณาอนุญาตให้ทหารโปแลนด์สามารถข้ามพรมแดนมายังโรมาเนียตามช่วงเวลาได้ โดยทรงปฏิเสธที่จะกักตัวพวกเขาตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ทหารชาวโปลได้รับอนุญาตให้เดินทางไปที่เมืองคอนสตันซาเพื่อขึ้นเรือและพาพวกเขาไปที่มาร์แซย์ เพื่อสู้รบต่อต้านเยอรมันร่วมกับฝรั่งเศส[101] หัวสะพานโรมาเนียยังคงเป็นเส้นทางหลบหนีสำคัญของชาวโปลหลายพันคนในช่วงล่อแหลมของเดือนกันยายน ค.ศ. 1939 เส้นทางนี้ได้รับการร้องเรียนอย่างหัวเสียจากทูตฟาบริเชียสในกรณีที่เป็นเส้นทางของทหารโปแลนด์ข้ามมาโรมาเนีย สุดท้ายกษัตริย์คาโรลจึงทรงต้องกักกันชาวโปลที่หลบหนี

ในวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1939 นายกรัฐมนตรีคาลีเนสคูถูกลอบสังหารโดยกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็ก โดยมีการวางแผนที่เบอร์ลิน เพื่อกำจัดกลุ่ม คามาริลลา ที่สนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างแข็งขัน[102] วันต่อมา มือสังหารคาลีเนสคู 9 คน ถูกยิงทิ้งโดยไม่มีการพิจารณาคดี และในช่วงสัปดาห์วันที่ 22 - 28 กันยายน ค.ศ. 1939 สมาชิกกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็ก 242 คนตกเป็นเหยื่อการประหารชีวิตแบบวิสามัญฆาตกรรม[103] เนื่องด้วยเรื่องน้ำมันทำให้โรมาเนียถูกมองว่ามีความสำคัญยิ่งต่อทั้งสองฝ่ายและในช่วงระหว่างสงครามลวงในปี 1939 - 1940 อันเป็นสิ่งที่นักประวัติศาสตร์อย่างไวน์เบิร์กเรียกว่า "การกระเสือกกระสนอย่างเงียบๆเพื่อชิงน้ำมันของโรมาเนีย" โดยรัฐบาลเยอรมันพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้มีอำนาจเหนือน้ำมันโรมาเนียเท่าที่จะเป็นไปได้ ในขณะที่อังกฤษและฝรั่งเศสพยายามทุกวิถีทางเช่นกันเพื่อให้เยอรมนีไม่ได้น้ำมันจากโรมาเนียไป[104] โดยเฉพาะอังกฤษได้ดำเนินแผนการก่อวินาศกรรมทำลายบ่อน้ำมันของโรมาเนียและทำลายเครือข่ายขนส่งน้ำมันไปยังเยอรมนีซึ่งไม่สำเร็จ[101] ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1940 กษัตริย์คาโรลทรงมีพระราชดำรัสผ่านสถานีวิทยุ โดยทรงประกาศว่า นโยบายต่างประเทศที่ชาญฉลาดของพระองค์สามารถทำให้โรมาเนียเป็นกลางและปลอดภัยจากอันตรายได้[105] ในพระราชดำรัสเดียวกัน กษัตริย์คาโรลทรงประกาศว่าจะทรงก่อสร้างแนวป้องกันขนาดใหญ่รอบราชอาณาจักร ดังนั้นจะต้องมีการขึ้นภาษีเพื่อใช้จ่ายในการก่อสร้างนี้[105] ชาวโรมาเนียเรียกแนวเขตแดนนี้ว่า แนวอิแมกิโนต์ ถูกมองว่าเป็นแนวตั้งรับในจินตนาการของแนวแมกิโนต์ และผู้อยู่ใต้สังกัดของกษัตริย์คาโรลหลายคนสงสัยว่า เงินที่มีมากขึ้นจากการเพิ่มอัตราภาษีจะเข้าสู่บัญชีธนาคารของกษัตริย์ที่ธนาคารสวิส[105]

กษัตริย์คาโรลทรงป้องกันการเดิมพันครั้งนี้ของพระองค์เกี่ยวกับการที่จะเลือกระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรหรือฝ่ายอักษะ เพียงปลายเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1940 เมื่อฝรั่งเศสดูเหมือนจะแพ้สงคราม กษัตริย์คาโรลจึงเปลี่ยนไปสนับสนุนฝ่ายอักษะ[106] ในช่วงยุคหลังสงครามลวง หลังจากทรงต่อสู้กับกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กอย่างนองเลือดมานาน นำมาซึ่งจุดสูงสุดเมื่อนายกรัฐมนตรีคาลีเนสคูถูกลอบสังหาร กษัตริย์คาโรลจึงทรงเริ่มยื่นมือไปหากลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กที่ผู้นำบางคนยังรอดชีวิตอยู่[107] พระองค์ทรงมองว่ากลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กที่ "เชื่อง" จะสามารถใช้เป็นฐานสนับสนุนความนิยมได้ ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1940 กษัตริย์คาโรลทรงเปิดการเจรจากับวาซิล โนวีอานู ผู้นำกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กใต้ดินในโรมาเนีย แต่ก็เจรจาได้ไม่ถึงต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1940 ฮอเรีย ซีมา ผู้นำกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กที่ลี้ภัยในเยอรมนีได้รับการชักชวนให้สนับสนุนรัฐบาล[108] ในวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1940 ซีมาเดินทางจากเยอรมนีกลับโรมาเนียเพื่อเริ่มเจรจากับนายพลมีไฮ มอรูซอฟแห่งหน่วยสืบราชการลับเกี่ยวกับการที่กลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กเจ้าเข้าร่วมรัฐบาล[108] ในวันที่ 28 พฤษภาคม หลังจากทรงรับรู้การพ่ายแพ้ของเบลเยียม กษัตริย์คาโรลทรงบอกต่อสภาราชบัลลังก์ว่า เยอรมนีกำลังจะชนะสงคราม และโรมาเนียจำเป็นต้องปรับนโยบายต่างประเทศและนโยบายภายในประเทศใหม่เพื่อผู้ชนะสงคราม[108] ในวันที่ 13 มิถุนายน มีการตกลงกันในขณะที่กลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมพรรคแนวร่วมเรอเนซองแห่งชาติ (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อพรรคเป็น พรรคแห่งชาติ) เพื่อแลกเปลี่ยนกับนโยบายที่ให้ดำเนินการต่อต้านชาวยิวอย่างเข้มข้นมากขึ้น[108] พรรคแนวร่วมเรอเนซองแห่งชาติรวมตัวใหม่เป็นพรรคแห่งชาติ ซึ่งขนานนามว่าเป็น "พรรคเดี่ยวและอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จภายใต้ผู้นำสูงสุดล้นเกล้าล้นกระหม่อม สมเด็จพระเจ้าคาโรลที่ 2"[109] ในวันที่ 21 มิถุนายน ฝรั่งเศสลงนามสงบศึกกับเยอรมนี ชนชั้นนำโรมาเนียที่เคยอยู่ภายใต้แนวคิดนิยมฝรั่งเศสมานาน การพ่านแพ้ของฝรั่งเศส ทำให้ชนชั้นนำกลุ่มนี้ถูกมองว่าเป็นผู้น่าอัปยศอดสูในสายตาของประชาชนและทำให้ประชาชนหันไปให้การสนับสนุนกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กที่นิยมเยอรมันแทน[105]

ในช่วงที่โรมาเนียหันไปสนับสนุนกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กและเยอรมนีภัยก็เข้ามาเยือน ในวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1940 สหภาพโซเวียตยื่นคำขาดเรียกร้องให้โรมาเนีบส่งมอบดินแดนเบสซาราเบีย (ซึ่งเคยเป็นของรัสเวียจนถึงปี 1918) และภาคเหนือของบูโกวินา (ซึ่งไม่เคยเป็นของรัสเซียเลย) ให้ส่งคืนแก่สหภาพโซเวียต และข่มขู่ว่าจะกอสงคราม ภายในสองวันคำขาดของโซเวียตก็ถูกปฏิเสธ[110] กษัตริย์คาโรลทรงพิจารณาในตัวอย่างกรณีของฟินแลนด์ใน ค.ศ. 1939 ซึ่งเผชิญกับคำขาดของสหภาพโซเวียตเช่นเดียวกัน แต่ผลของสงครามฤดูหนาวก็แทบเป็นตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจไม่ได้[110] ในตอนแรกกษัตริย์คาโรลทรงพิจารณาปฏิเสธคำขาด แต่เมื่อทรงได้รับแจ้งว่ากองทัพโรมาเนียไม่สามารถต่อกรกับกองทัพแดงได้ พระองค์ก็ตัดสินพระทัยสละดินแดนแบสซาราเบียและภาคเหนือของบูโกวินาให้สหภาพโซเวียต กษัตริยืคาโรลทรงขอร้องไปยังรัฐบาลเบอร์ลินให้ช่วยต่อต้านคำขาดสหภาพโซเวียต แต่ก็ทรงได้รับการบอกเพียงว่าให้เห็นดีงามกับข้อเรียกร้องของโจเซฟ สตาลิน [110] การสูญเสียดินแดนโดยไม่ได้ต่อสู้กับสหภาพโซเวียตกลายเป็นความอัปยศระดับชาติของชาวโรมาเนีย และส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อพระเกียรติยศของกษัตริย์คาโรล ลัทธิบูชาบุคคลของกษัตริย์คาโรลใน ค.ศ. 1940 นั้นได้รับผลกระทบสูงสุด การสละดินแดนให้โซเวียตนั้นไม่มีการต่อต้านจากเบสซาราเบียและภาคเหนือของบูโกวินาเลย อันเป็นที่เผยให้เห็นว่า กษัตริย์คาโรลก็ทรงเป็นมนุษย์คนหนึ่งเฉกเช่นทุกคน และที่ย่ำแย่คือศักดิ์ศรีของพระองค์ถูกบั่นทอน จนกษัตริย์คาโรลถูกมองว่าเป็นกษัตริย์ยังคงเป็นธรรมดาที่เจียมเนื้อเจียมตนไม่วิเศษเหมือนเมื่อก่อน[105]

นายกรัฐมนตรีเอียน กีกูร์ตูและรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมันโยอาคิม ฟ็อน ริบเบินทร็อพ ในซาลซ์บูร์ก เดือนกรกฎาคม ปี 1940

ในวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1940 ซีมาได้เข้าร่วมรัฐบาลในฐานะปลัดกระทรวงศึกษาธิการ[111] ในวันที่ 1 กรกฎาคม กษัตริย์คาโรลทรงมีพระราชดำรัสทางวิทยุประกาศล้มเลิกสัญญาพันธมิตรกับฝรั่งเศสปี 1926 และสนธิสัญญาอังกฤษ-ฝรั่งเศส ที่ "รับประกัน" ฐานะของโรมาเนียในปี 1939 โดยทรงตรัสว่า ต่อจากนี้โรมาเนียจะแสวงหาการคุ้มครองภายใต้เยอรมัน "ระเบียบโลกใหม่" ในยุโรป[112] วันถัดมา กษัตริย์คาโรลทรงเชิญให้เจ้าหน้าที่ทาวทหารเยอรมันเข้ามาฝึกซ้อมทหารในกองทัพโรมาเนีย[112] วันที่ 4 กรกฎาคม กษัตริย์คาโรลเสด็จรับพิธีสาบานตนของรัฐบาลใหม่ที่นำโดย เอียน กีกูร์ตู เป็นนายกรัฐมนตรี และซีมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศิลปกรรมและวัฒนธรรม[113] กีกูร์ตูเป็นผู้นำพรรคคริสเตียนแห่งชาติต่อต้านเซมิติกในช่วงทศวรรษที่ 1930 เขาเป็นเศรษฐีนักธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์กับเยอรมนี และเป้นที่รู้จักว่าเป็นพวกนิยมเยอรมัน[113] ด้วยเหตุเหล่านี้ กษัตริย์คาโรลทรงหวังว่าการให้กีกูร์ตูเป็นนายกรัฐมนตรีจะทำให้ชนะใจฮิตเลอร์ และป้องกันการสูญเสียดินแดนต่อไป[113] ในขณะเดียวกัน กษัตริย์คาโรลทรงลงพระนามในสนธิสัญญาเศรษฐกิจใหม่กับเยอรมนีในวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1940 และในที่สุดชาวเยอรมันก็ครอบงำโรมาเนียและครอบงำน้ำมันที่พวกเขาแสวงหามาตลอดในช่วงทศวรรษที่ 1930

หลังจากนั้นเป็นต้นมาสหภาพโซเวียตกลายเป็นตัวอย่างให้บัลแกเรียทำตามบ้างในการเรียกร้องดินแดนคืนจากโรมาเนีย โดยเรียกร้องดินแดนโดบรูยาที่สูญเสียไปในสงครามบอลข่านครั้งที่สอง ค.ศ. 1913 ส่วนฮังการีก็เรียกร้องดินแดนทรานซิลเวเนียคืนหลังจากสูญเสียไปหลังพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[114] โรมาเนียและบัลแกเรียเปิดการเจรจากันนำไปสู่สนธิสัญญาไครโอวาที่ยินยอมมอบดินแดนโดบรูบาตอนใต้ให้บัลแกเรีย ในทางปฏิบัติ กษัตริย์คาโรลไม่ทรงเต็มพระทัยที่จะยกทรานซิลเวเนียให้ฮังการี และหากไม่ได้เป็นการแทรกแซงการทูตของโรมาเนียและอิตาลี พระองค์ก็จะไม่ทรงยอมเช่นนั้น โรมาเนียและฮังการีกำลังจะทำสงครามกันในฤดูร้อน ปี 1940[114] ในขณะเดียวกัน กษัตริย์คาโรลทรงจับกุมนายพลเอียน อันโตเนสคูในวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 1940 หลังจากเขาวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ โจมตีการทุจริตของรัฐบาลพระราชทานว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อความอับอายที่กองทัพโรมาเนียได้รับและรวมถึงการสูญเสียเบสซาราเบียด้วย[115] ทั้งฟาบริเชียสและแฮร์มันน์ เนาบาเชอร์ ผู้ปฏิบัติการแผนสี่ปีในบอลข่านได้เข้าแทรกแซงกษัตริย์คาโรล พวกเขาเสนอว่า การทำให้อันโตเนสคู "ตายจากอุบัติเหตุ" หรือ "ถูกยิงขณะพยายามหลบหนี" จะทำให้เกิด "ความไม่พอใจต่อผู้นำระดับสูงของเยอรมัน" เพราะอันโตเนสคูเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญในการเป็นพันธมิตรกับเยอรมนี[115] วันที่ 11 กรกฎาคม กษัตริย์คาโรลทรงปล่อยตัวอันโตเนสคู แต่ให้กักบริเวณที่อารามบิสตีอา[115]

ฮิตเลอร์ตื่นตระหนกต่อสงครามระหว่างโรมาเนียและฮังการีที่อาจจะเกิดขึ้น เขากลัวว่าอาจจะทำให้แหล่งน้ำมันโรมาเนียถูกทำลาย หรือสหภาพโซเวียตเข้าแทรกแซงและยึดครองโรมาเนียทั้งหมด[114] ในเวลานี้ ฮิตเลอร์กำลังพิจารณาอย่างจริงจังในการบุกสหภาพโซเวียตในปีค.ศ. 1941 และถ้าเขาจะทำเช่นนั้น เขาต้องใช้น้ำมันโรมาเนียในการเสริมสร้างกองทัพของเขา[114] ในเหตุการณ์รางวัลเวียนนาครั้งที่สองวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 1940 รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมัน โยอาคิม ฟ็อน ริบเบินทร็อพ และรัฐมนตรีต่างประเทศอิตาลี เคานท์กาลีอัซโซ ซีอาโน ได้ระบุให้ทรานซิลเวเนียตอนเหนือเป็นของฮังการี ในขณะที่ทรานซิลเวเนียตอนใต้เป็นของโรมาเนีย การประนีประนอมนี้ยิ่งทำให้รัฐบาลบูคาเรสต์และบูดาเปสต์ไม่พอใจอย่างลึกๆต่อรางวัลเวียนนา[116] ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ โรมาเนียมีความสำคัญต่อฮิตเลอร์มากกว่าฮังการี แต่โรมาเนียเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสตั้งแต่ค.ศ. 1926 และเข้าร่วม "แนวหน้าสันติภาพ" ของอังกฤษในปี 1939 ฮิตเลอร์จึงไม่ชอบและไม่ไว้ใจกษัตริย์คาโรล เขาจึงมองว่าโรมาเนียต้องถูกลงโทษเนื่องจากใช้เวลานานมากกว่าจะเข้าร่วมฝ่ายอักษะ[114] หลังจากปารีสพ่ายแพ้ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1940 เยอรมันเข้ายึดครองเกดอร์เซย์ และได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการทูตสองหน้าของกษัตริย์คาโรลว่าดำเนินการจนถึงฤดูใบไม้ผลิของปี 1940[117] จากการถอดความจากเอกสารฝรั่งเศสที่เก็บมาได้แล้วแปลมาเป็นภาษาเยอรมันให้ฮิตเลอร์ (ฮิตเลอร์ไม่มีความสามารถทางภาษาใดๆ นอกจากภาษาเยอรมันของเขาเอง) เขาไม่ประทับใจกษัตริย์คาโรลที่พยายามสานสัมพันธ์กับฝรั่งเศสในเวลาเดียวกับที่เป็นมิตรกับเยอรมัน[117] ในเวลาเดียวกัน ฮิตเลอร์มีข้อเสนอให้กษัตริย์คาโรลถึงเรื่อง "การรับประกัน" ดินแดนส่วนที่เหลือของโรมาเนียเพื่อไม่ให้สูญเสียเพิ่ม ซึ่งกษัตริย์คาโรลทรงยอมรับในทันที[116]

แหล่งที่มา

WikiPedia: คาโรลที่ 2 แห่งโรมาเนีย http://www.sudd.ch/event.php?lang=en&id=ro011938 http://www.historytoday.com/richard-cavendish/deat... http://www.itv.com/presscentre/ep10week14/mr-selfr... http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,8... http://www.cs.kent.edu/~amarcus/Mihai/english/caro... http://www.law.nyu.edu/eecr/vol7num2/feature/ruler... http://pages.prodigy.net/ptheroff/gotha/greece.htm... http://pages.prodigy.net/ptheroff/gotha/romania.ht... http://www.tkinter.smig.net/Romania/References/Car... http://ziua.net/display.php?data=2007-11-29&id=230...